วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทย การสร้างเสริมสุขภาพการป้องกันโรค


ภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าWisdomหมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะความเชื่อ และศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไม่ขาดสายและเชื่อมโยงกันทั้งระบบทุกสาขา
ภูมิปัญญาไทยหมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะและเทคนิคการตัดสินใจ ผลิตผลงานของบุคคล อันเกิดจากการสะสมองค์-ความรู้ทุกด้านที่ผ่านกระบวนการสืบทอด พัฒนาปรับปรุง และเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เองและนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธี เป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ทั้งทางกว้างและทางลึกที่ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยความเหมือนกันของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นองค์ความรู้ และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ซึ่งได้สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ความต่างกันของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือภูมิปัญญาไทยเป็นองค์ความรู้และความสามารถโดยส่วนรวม เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้และความสามารถในระดับท้องถิ่นซึ่งมีขอบเขตจำกัดในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาษาไทยเป็นภูมิปัญญาไทย ในขณะที่ภาษาอีสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีดังนี้
๑. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
๒. ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
๓. ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน
๔. ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
๕. ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
๖. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
๗. ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม

ลักษณะความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาไทยสามารถสะท้อนออกมาใน ๓ ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คือ

๑. ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช แลธรรมชาติ
๒. ความสัมพันธ์ของคนกับคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดทั้งสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย

ทั้ง ๓ ลักษณะนี้ คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน หมายถึง ชีวิตชุมชนสะท้อนออกมาถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างมีเอกภาพเหมือนสามมุมของรูปสามเหลี่ยม ภูมิปัญญาจึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย
จะเห็นได้ว่า ลักษณะภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จะแสดงออกมาในลักษณะภูมิปัญญาในการดำเนินวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานด้านปัจจัยสี่ ซึ่งประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตลอดทั้งการประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น
ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอื่นในสังคม จะแสดงออกมาในลักษณะจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและนันทนาการ ภาษาและวรรณกรรม ตลอดทั้งการสื่อสารต่างๆ เป็นต้น
ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติจะแสดงออกมาในลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา ความเชื่อต่างๆ เป็นต้น


การแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทยหรือมักเป็นที่รู้จักกันว่าการแพทย์แผนโบราณเป็นความพยายามจะอธิบายภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ (เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเข้ามาอธิบาย ผสมผสานองค์ความรู้จากวัฒนธรรมอินเดียพุทธศาสนาและองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเองโดยครูการแพทย์แผนไทย คือชีวกโกมารภัจจ์
การแพทย์แผนไทย อาจหมายถึง กระบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา
การแพทย์แผนไทยอาจจะไม่มีองค์ความรู้ด้านกลไกการเกิดโรค และเทคนิคทางศัลยกรรมมากนัก แต่ต้องมีองค์ความรู้ด้านกลวิธีทางคลินิก เช่น การซักประวัติ และการรักษาด้วยยา เพียงแต่ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก (Evidence-based clinical knowledge)ซึ่งก็มาจากกฎข้อบังคับตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ที่ว่า "มิให้แพทย์แผนไทยกระทำการอันเป็นวิทยาศาสตร์ใด ๆ" นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถมีการตั้งสมมุติฐานและวิจัยได้อย่างเต็มที่
แพทย์แผนไทยประยุกต์คือ บุคลากรทางการแพทย์สาขาหนึ่ง เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ซึ่งต้องการพัฒนาและยกฐานะของการแพทย์แผนไทยโบราณให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักวิชาการรองรับในการอธิบาย อาจกล่าวได้ว่า แพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นบุคลากรการแพทย์สายพันธุ์ใหม่ของสังคมไทย ที่ครึ่งหนึ่งขององค์ความรู้จะต้องร่ำเรียนตามหลักวิชาการทางการแพทย์แผนตะวันตกผสมผสานกับคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของไทย สามารถใช้เครื่องมือทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้บางอย่าง (ตามที่ข้อกฎหมายกำหนด 13 รายการ) สามารถวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนในการรักษานั้น ต้องรักษาด้วยวิธีการการแพทย์แผนไทยอาทิการใช้ยาสมุนไพร นวด อบ ประคบ นอกจากนั้น ยังสามารถทำคลอดและให้การบำรุงแม่และทารก ตามแนวทางการแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
แพทย์แผนไทยประยุกต์จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยเฉพาะเสียก่อน จึงสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือให้การรักษาแก่ผู้ป่วยได้ การสอบใบประกอบโรคศิลปะนั้น จะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์เท่านั้น จึงจะเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่สมบูรณ์และถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย และผดุงครรภ์

การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
การสร้างเสริมสุขภาพคือ กระบวนการเกื้อหนุนและสนับสนุนส่งเสริมให้บุคคลและกลุ่มคนมีความสามารถในการควบคุมดูแลสุขภาพของตัวเองและพัฒนาสุขภาพของตัวเอง จะเห็นได้ว่าการสร้างเสริมสุขภาพที่จะได้ผลดี บุคคลและกลุ่มคนต้องเป็นผู้กระทำเอง ไม่ใช่รอหรือหวังพึ่งบริการจากแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่คนจำนวนมากก็ยังมองเห็นว่าการสรางเสริมสุขภาพเป็นสิ่งที่เขาจะได้รับบริการจากแพทย์ นั่นหมายความว่าคนไทยจำนวนหนึ่งยังเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่รักษาได้ โดยไม่คิดที่จะส่งเสริมสุขภาพตัวเองและป้องกันโรค เพราะคิดว่าเมื่อป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาได้ อย่างไรก็ตาม
กลยุทธ์พื้นฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ 5 ประการซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ ก็จะยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นกว่าการสร้างเสริมสุขภาพต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในจึงจะเป็นไปได้และยั่งยืน
กลยุทธ์ที่ 1คือ การกำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าเป็นองค์กรระดับใด การจะกำหนดนโยบายนี้ได้ต้องอาศัยความเข้าใจของผู้กำหนดนโยบาย หรือแรงผลักดันจากสมาชิกในองค์กรที่เห็นด้วยกับการมีนโยบายนี้ในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นคล้อยตาม ความเห็นของผู้กำหนดนโยบายหรือของสมาชิกในองค์กรที่จะไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กำหนดเป็นนโยบายดังกล่าว ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในบุคคลนั้นเอง
กลยุทธ์ที่ 2คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การจัดให้มีและคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพเป็นผลต่อเนื่องจากการมีนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพ ตามด้วยการที่คนและกลุ่มคนมีความเข้าใจและจิตสำนึกที่ดีว่าการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจะช่วยสร้างเสริมสุขภาพเขาได้
กลยุทธ์ที่ 3คือ การสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนข้อนี้เป็นข้อที่ชัดเจนว่า การสร้างเสริมสุขภาพจะต้องเป็นกิจรรมต่อเนื่องที่ชุมชนดำเนินการด้วยตัวเอง ในบางกรณีอาจจะอาศัยความช่วยเหลือทางการเงิน ทรัพยากรและทางเทคนิคจากภายนอก แต่ในระยะยาวชุมชนนั้นต้องดำเนินกิจกรรมนี้ด้วยตัวเอง หรือดียิ่งไปกว่านั้น เมื่อประสบความสำเร็จก็ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จและเทคนิคการดำเนินงานให้กับชุมชนอื่นๆ ไปปฏิบัติตามหรือเลียนเยี่ยงอย่างในทางที่ดี
กลยุทธ์ที่ 4คือ การพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล กรณีนี้จะเห็นได้ชัดในเรื่องของการออกกำลังกายและการเลิกบุหรี่ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนแต่ละคนปฏิบัติเอง แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถออกกำลังกายแทนคนไข้และไม่สามารถเลิกบุหรี่แทนคนไข้ได้ คนจำนวนมากทราบถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่แต่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ อาจเป็นเพราะยังไม่มีความคิดในเชิงบวกว่าตัวเองสามารถกำหนดทางเลือกให้ตัวเองได้ว่าจะสูบบุหรี่หรือไม่ แล้วมีความเข้าใจที่จะเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพคือการเลิกบุหรี่
กลยุทธ์ที่ 5คือ การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจากเชิงรับเป็นเชิงรุก หรือจากการซ่อมสุขภาพเป็นการสร้างสุขภาพ คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าข้อนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ว่าจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานจากการเป็นผู้ให้บริการสุขภาพมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนประชาชนให้มีความสามารถในการควบคุมและพัฒนาสุขภาพของประชาชนเอง แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือทัศนคติและวิธีคิดของประชาชนเองว่าจะต้องสร้างเสริมสุขภาพและไปพึ่งพาระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ในขั้นตอนการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่รอให้ป่วยแล้วจึงไปใช้บริการระบบสุขภาพเพื่อการรักษาพยาบาลเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ในนิยามและแนวคิดกลยุทธ์พื้นฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ แสดงให้เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพของคนทั้งหลาย จากแนวคิดที่ว่าเมื่อเจ็บป่วยให้ไปหาแพทย์ เป็นจะทำอย่างไรที่ตัวเองจะไม่เจ็บป่วย จะได้ไม่ต้องไปรักษาหรือฟื้นฟูสภาพ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและยั่งยืนต่อไปต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวบุคคลและกลุ่มคนเองเท่านั้น.
การป้องกันโรคหมายถึง การขจัดหรับยับยั้งพัฒนาการของโรครวมถึงการประเมินและการรักษาเฉพาะ เพื่อจัดความก้าวหน้าของโรคในทุกระยะ
การป้องกันโรคแบ่งได้เป็น3ดับ ดังนี้
1.การป้องกันโรคระดับแรก(Primary prevention)หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไปรวมถึงการปกป้องและต่อต้านการเกิดเฉพาะโรค ได้แก่ การให้สุขศึกษา การรับประทานอาหารเหมาะสมตามวัย การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงาน การพักผ่อน และนันทนาการอย่างเหมาะสม การได้รับคำปรึกษากับการแต่งงานและเรื่องเพศ การคัดกรองพันธุกรรม การตรวจสุขภาพ
2.การป้องกันโรคระดับที่สอง (Secondary prevention)หมายถึง การได้รับการวินิจฉัยในระยะแรกของโรคแปละได้รับการรักษาทันท่วงที ความรุนแรงของโรคที่เป็นมีระยะเวลาสั้นสามารถกลับสู่สภาวะของการมีสุขภาพดีได้อย่างรวดเร็ว
3.การป้องกันโรคระดับที่สาม (Tertiary pervention)เป็นระดับที่ไม่เพียงแต่หยุดการดำเนินของโรคเท่านั้น แต่จะต้องป้องกันความเสื่อมสมรรถภาพอย่างสมบูรณ์ จุดประสงค์ก็คือให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า